สมาคมคูราชแห่งประเทศไทย

มาตรฐานสนามกีฬาคูราช

การแข่งขันกีฬาคูราชในปัจจุบัน

กีฬาคูราชได้ก้าวสู่การเป็นกีฬาสากลที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย ได้มีการบรรจุกีฬาคูราชเข้าไว้ในการแข่งขันระดับนานาชาติหลายรายการ อาทิ การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ การแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ การแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนอินดอร์และมาเชียลอาร์ตเกมส์ การแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนบีชเกมส์ การแข่งขันกีฬาคูราชชิงชนะเลิศแห่งเอเชียและทวีปต่างๆ การแข่งขันกีฬาคูราชชิงแชมป์โลก เป็นต้น

กิแลม(Gilam) หรือ สนามแข่งขัน​

กิแลม(Gilam) หรือ สนามแข่งขัน มาตรฐานที่ใช้ในการจัดการแข่งขันระดับชาติและนานาชาติจะต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 14 x 14 เมตร และไม่เกิน 16 x 16 เมตร

เบาะแข่งขัน

เบาะแข่งขัน ที่ใช้ในการแข่งขันแบ่งออกเป็น 2 เขต คือ เขตพื้นที่ต่อสู้ และ เขตนอกพื้นที่ต่อสู้
โดยปกติสีของกิแลมจะต้องปูด้วยเบาะสองสี ซึ่งที่นิยมใช้ได้แก่ สีเขียว, สีเขียวอ่อน, สีฟ้า, สีน้ำเงิน, สีเหลือง, สีส้ม, สีแดง, ฯลฯ เพื่อแยกให้เห็นความแตกต่างระหว่าง เขตพื้นที่ต่อสู้ (In Side) และ เขตนอกพื้นที่ต่อสู้ (Out Side)

พื้นที่ต่อสู้

In Side

หมายถึงพื้นที่ด้านในกิแลม มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งจะเรียกว่า “เขตพื้นที่ต่อสู้ หรือ เขตแข่งขัน (In Side)” จะปูด้วยกิแลมที่เป็นสีเดียวกัน

มีขนาดไม่น้อยกว่า 8 x 8 เมตร
และไม่เกิน 10 x 10 เมตร

พื้นที่นอกเขตต่อสู้

Out Side

หมายถึงพื้นที่ของกิแลมโดยรอบเขตแข่งขัน ซึ่งเรียกว่านอกเขตต่อสู้ (Out Side) 

มีขนาดกว้างออกไปโดยรอบ 2-3 เมตร

16x16m
14x14m

ความสูงของสนามแข่งขัน

กิแลม ควรจะต้องอยู่บนพื้นที่ยืดหยุ่นหรือบนฟลอร์ยกพื้น ความสูงจากพื้น 60 – 80 เซนติเมตร ถ้ายกฟลอร์สูงควรทำทางลาดสโลบลงโดยรอบทั้ง 4 ด้าน และทำบันไดทางขึ้นลงสำหรับนักกีฬาและผู้ตัดสินด้วย

เส้นเริ่มต้นและสิ้นสุดการต่อสู้ ในเขตต่อสู้ของกิแลม จะถูกขีดเส้นตรง 2 เส้น ที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน เพื่อเป็นจุดยืนของนักกีฬาบนกิแลม

ก่อนที่ผู้ตัดสินจะสั่ง
“Kurash” ให้นักกีฬาทำการต่อสู้ และเพื่อเป็นจุดยืนของนักกีฬาบนกิแลม หลังจากที่ผู้ตัดสินมีคำสั่งว่า “Tokhta” โดยกำหนดให้เส้นเริ่มต้นทางขวามือของผู้ตัดสินเป็น เส้นสีน้ำเงิน และเส้นเริ่มต้นทางซ้ายมือของผู้ตัดสินเป็น เส้นสีเขียว โดยให้มีระยะห่างกัน 2-4 เมตร

หมายเหตุ

ปัจจุบันกิแลมถูกพัฒนามาใช้แผ่นยางสำเร็จรูปแบบจิ๊กซอร์ต่อสำเร็จ ซึ่งสหพันธ์กีฬาคูราชโลกอนุญาตให้นำมาใช้ในการจัดการแข่งขันได้ โดยมีมาตรฐานแผ่นยางสำเร็จรูปแบบจิ๊กซอร์ กว้าง X ยาว = 1 X 1 เมตร และมีความหนาไม่น้อยกว่า 5 เซนติเมตร สีของกิแลมอนุโลมให้ใช้สีอื่นได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ต้องมีความแตกต่างระหว่างสี ของพื้นที่เขตต่อสู้กับพื้นที่นอกเขตต่อสู้อย่างชัดเจน

สนามแข่งขันกีฬาคูราชชายหาด

สนามแข่งขันกีฬาคูราชชายหาดเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีขนาดพื้นที่ 8 เมตร X 8 เมตร พื้นเป็นทราย มีความยืดหยุ่น ไม่เกาะตัวแน่น

เส้นเขตสนามแข่งขันขึงหรือวางด้วยผ้าผืนยาว หรือวัสดุนิ่มที่ไม่เป็นอันตรายต่อนักกีฬา เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส อุปกรณ์ในการจัดการแข่งขันอื่นๆ สามารถจัดและใช้อุปกรณ์เช่นเดียวกับการจัดสนามกีฬาคูราชในร่มได้

อุปกรณ์ที่จำเป็นต้องมีในสนามแข่งขัน

อุปกรณ์ที่กิแลมแต่ละกิแลม (สนามแข่งขัน) จะต้องมี ประกอบด้วย
โต๊ะ 1 ตัวและเก้าอี้ 3 ตัว โต๊ะและเก้าอี้ สำหรับหัวหน้าผู้ตัดสินประจำสนาม, เลขานุการประจำสนาม เจ้าหน้าที่ควบคุมสกอร์บอร์ด ผู้ประกาศประจำสนาม ควรจัดให้อยู่ด้านนอกมีระยะห่างจากกิแลม อย่างน้อย 1-2 เมตร และควรอยู่ใกล้กันในแนวเดียวกัน เพื่อให้ทำงานประสานงานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เก้าอี้นั่งผู้ตัดสินข้างสนาม 2 ตัว (ต่อ 1 สนาม)

เก้าอี้นั่งผู้ตัดสินข้างสนาม 2 ตัว ควรมีน้ำหนักเบา ขาเก้าอี้โค้งมน เพื่อไม่ให้ขาเก้าอี้ไปกดทับลงบนกิแลม ซึ่งจะทำให้กิแลมชำรุดเสียหาย ตั้งอยู่นอกกิแลมในมุมตรงข้ามกัน โดยไม่บังหรืออยู่ใกล้กับป้ายคะแนน

โต๊ะแพทย์-พยาบาลประจำสนาม พร้อมอุปกรณ์ปฐมพยาบาล
ผู้ชม (นักข่าว, โทรทัศน์ ฯลฯ) จะต้องไม่อยู่ในระยะใกล้ 3 เมตร จากกิแลม (เบาะ) ของการแข่งขัน
ควรจัดให้มีพื้นที่สนามฝึกซ้อม อยู่ใกล้ๆกับสนามแข่งขัน เพื่อให้นักกีฬาได้อบอุ่นร่างกายก่อนที่จะลงแข่งขัน

ป้ายแสดงคะแนนอิเล็คทรอนิค (แสดงเวลาของการแข่งขัน และแสดงคะแนนเทคนิค)

ป้ายคะแนนจะตั้งอยู่บริเวณนอกเขตทำงาน เพื่อให้ผู้ตัดสิน, คณะกรรมการตัดสิน และผู้ชมสามารถเห็นได้ง่าย (ปกติต้องเป็นป้ายคะแนนแบบอีเล็คทรอนิค ควบคุมด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์) ป้ายคะแนนจะต้องเป็นไปตามกำหนดมาตรฐานของสหพันธ์กีฬาคูราชนานาชาติ

เครื่องขยายเสียงพร้อมไมโครโฟน. 2-4 ตัว

อุปกรณ์ส่งสัญญาณเสียง หรือกริ่งไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ที่ทำให้เกิดเสียงอื่นๆ เพื่อใช้สำหรับส่งสัญญาณให้กับผู้ชี้ขาดบนกิแลมทราบ เมื่อสิ้นสุดเวลาการแข่งขัน ปัจจุบันมักเป็นอุปกรณ์ที่รวมอยู่กับป้ายบอกคะแนนอิเล็คทรอนิค กรณีไม่มีจึงจำเป็นต้องจัดหาไว้
นาฬิกาจับเวลาด้วยมือ และ ป้ายบอกคะแนนด้วยมือที่จะต้องเตรียมไว้ใช้พร้อมๆ กันกับป้ายคะแนนแบบอีเล็คทรอนิคที่ควบคุมด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ในกรณีที่ไฟฟ้าไม่ทำงาน
กล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหว พร้อมเครื่องเล่น และจอมอร์นิเตอร์สำหรับดูภาพที่บันทึก